กรณีศึกษาเรื่องการนำ Qualica มาใช้

ซอฟต์แวร์การจำลองการหล่อ
JSCAST

ความเป็นมา

พิจารณาการนำซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ มาใช้เพื่อผลิตแม่พิมพ์โลหะใช้เองภายในบริษัท

หัวข้อประเมิน

ได้รับการสนับสนุนอย่างดี
ในประเทศไทย

ผลลัพธ์

ประสบความสำเร็จในการคาดคะเนความชำรุด มุ่งมั่นทดลองทุกวิถีทางเพื่อปรับปรุง

ความเป็นมา

ตั้งเป้าสู่การเก็บสะสมเทคโนโลยีอันเป็นเอกลักษณ์ กล้าท้าทายสู่การผลิตแม่พิมพ์โลหะใช้เองในบริษัทไทยพิจารณาซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ ซึ่งเหมาะต่องานผลิตแม่พิมพ์โลหะที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ห่างจากในกลางกรุงเทพมหานครไปทางตะวันออกประมาณ 1 ชั่วโมงโดยรถยนต์ เข้าสู่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่นี่คือที่ตั้งของบริษัท KITZ (Thailand) Ltd. ซึ่งเป็นฐานการผลิตของบริษัทคิทส์ในประเทศไทย (สำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองชิบะ จังหวัดชิบะ จดทะเบียนซื้อขายในส่วนกระดานที่หนึ่งของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว) ผู้ผลิตวาล์วทั้งแบบสัมฤทธิ์และแบบทองเหลืองจำนวนมากถึงหนึ่งล้านชิ้นต่อเดือน โดยทำการผลิตเองตั้งแต่หลอมโลหะจนถึงขึ้นรูป เพื่อใช้งานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น ภูมิภาคเอเชีย สหรัฐอเมริกา ดังนั้นหากจะพูดว่าที่นี่มีบทบาทสำคัญในฐานะฐานการผลิตสินค้าประเภทเดียวกันของกลุ่มบริษัทคิทส์ก็คงไม่ผิดนัก

ฝ่ายงานวิศวกรรมเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ภายในบริษัทซึ่งเปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1988 ก่อนจะมีฝ่ายงานดังกล่าว บริษัททำหน้าที่ในฐานะโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่เคยลดละที่จะแสวงหาแนวทางการผลิตสินค้าตามที่ถูกกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า ให้มีคุณภาพดีขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น ทว่าหากคิดจะขยายพื้นที่ส่วนแบ่งในตลาด ก็จำเป็นต้องรู้จักพัฒนาสินค้าแบบยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น ดังนั้น เราจึงคิดถึงการจัดตั้งฝ่ายงานวิศวกรรมขึ้นในประเทศไทย และสั่งสมประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีของตัวเองอย่างจริงจัง โดยผู้ที่รับบทบาทสำคัญคือผู้อำนวยการโนโบรุ ฮอตตะ ผู้เดินทางมาประจำตำแหน่งในประเทศไทยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานวิศวกรรม

หลังก่อตั้งฝ่ายงานวิศวกรรม บริษัทก็เริ่มท้าทายกับการหันมาผลิตแม่พิมพ์โลหะเองภายในบริษัท แทนการสั่งซื้อจากภายนอก แม่พิมพ์เปรียบได้กับปัจจัยสำคัญสำหรับผลิตวาล์ว อีกทั้งยังเป็นชิ้นส่วนวัดกึ๋นเพราะทักษะความรู้ทั้งหลายอัดแน่นอยู่ในนั้น หากผลิตแม่พิมพ์เองภายในบริษัทได้สำเร็จ ก็จะสามารถร่นระยะกำหนดเวลาจัดส่งที่แต่เดิมบางครั้งต้องใช้เวลาหลายเดือนลงได้มาก อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดปลีกย่อยได้ง่ายขึ้น แต่น่าเสียดาย ที่บริษัทในประเทศไทยยังไม่มีทักษะความรู้ด้านการผลิตแม่พิมพ์ ช่วงแรกจึงเป็นการตระเตรียมเครื่องจักรโรงงานและอุปกรณ์ ลองผิดลองถูกโดยหาตัวอย่างมาศึกษาเองเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อการผลิตพิมพ์โลหะเข้ารูปเข้ารอย สิ่งท้าทายถัดไปก็คือการทำแบบหล่อทรายที่ใช้สำหรับหล่อโลหะ พร้อมกับคิดวางแผนสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ดียิ่งขึ้น โดยนำซอฟต์แวร์วิเคราะห์กระบวนการไหลและการแข็งตัวภายในเตาหลอมเข้ามาใช้

คัดเลือก

ผู้ดำเนินการผลิตคือคนไทย จึงจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนเป็นภาษาไทยฐานบริการซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยของ Qualica คือ ตัวแปรสำคัญให้ตัดสินใจนำมาใช้

ในการนำซอฟต์แวร์วิเคราะห์มาใช้ จำต้องคิดด้วยว่าคนไทยซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในงานผลิตจะสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้อย่างชำนาญมากแค่ไหน เพราะทางบริษัทมีความคาดหวังให้คนไทยเป็นผู้กุมสิทธิ์การคิดพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

เราให้สิทธิ์พนักงานคนไทยเป็นผู้เลือกซอฟต์แวร์วิเคราะห์ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นให้พนักงานบริษัทซอฟต์แวร์เข้ามาอธิบายเกี่ยวกับซอฟต์แวร์นั้น ๆ ถึงโรงงาน แต่ข้อเสียที่ค้นพบคือถึงแม้จะมีพนักงานฝ่ายเซลล์อยู่ในประเทศไทย เมื่อเรียกหาการให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีแบบลงรายละเอียด ผู้ให้คำปรึกษากลับกลายเป็นพนักงานชาวต่างชาติซึ่งสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ในการพูดคุยกันในเรื่องเฉพาะทาง เช่น การหลอมโลหะแม่พิมพ์ ทางบริษัทต้องการคำแนะนำเป็นภาษาไทยเพื่อให้พนักงานคนไทยเข้าใจง่ายขึ้นมากกว่า โดยคุณฮอตตะระบุว่า "พวกเรารู้ตัวดีว่าพวกเราคือมือสมัครเล่น ดังนั้นการได้รับคำแนะนำเป็นภาษาไทยย่อมดีกว่าแน่นอนครับ"

เมื่อคุณฮอตตะได้ฟังความคิดเห็นจากโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มพิจารณาเรื่องการนำระบบจำลองการไหลและการแข็งตัวแบบสามมิติ JSCAST ของ Qualica มาใช้งาน บริษัท Qualica ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นประจำการ คุณฮอตตะจึงไม่รีรอที่จะติดต่อบริษัท Qualica ด้วยตนเองทันที นอกจากฟังก์ชั่นการทำงานของ JSCAST แล้ว ความอุ่นใจในประเด็นที่บริษัท Qualica ในไทยสามารถให้คำแนะนำได้อย่างคล่องแคล่วชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น ได้กลายเป็นปัจจัยช่วยให้ตัดสินใจนำระบบเข้ามาใช้งานจริง และเริ่มต้นโปรเจกต์อย่างเป็นทางการเดือนพฤษภาคม 2019

ผลลัพธ์

คาดการณ์สินค้าชำรุดเสียหายได้จากการจำลองสถานการณ์พื้นที่ปฏิบัติงานผลิตจริง ช่วยกระตุ้นให้เกิดไอเดียสำหรับปรับปรุงผลิตภัณฑ์

ผู้รับหน้าที่วิเคราะห์งานด้วย JSCAST ก็คือคุณ Ornut Yodmanee พนักงานชาวไทยอายุน้อย ผู้เคยศึกษาวิศวกรรมโลหการในระดับอุดมศึกษา และได้รับเลือกให้เข้ามาทดลองสร้างผัง CAD ระบบสามมิติ กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ อาทิ โลหะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ คุณภาพของวัตถุดิบของแม่พิมพ์โลหะ รวมถึงวิเคราะห์ผล นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมแม่พิมพ์โลหะซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจากการผลิตจริง และนำมาศึกษาค้นคว้าว่าสาเหตุของความชำรุดนั้นเกิดจากอะไร โดยเปรียบเทียบกับผลการจำลองสถานการณ์

JSCAT ช่วยให้เรามองเห็นการไหลของวัตถุเหลวภายในแม่พิมพ์โลหะ และสภาพของการแข็งตัวซึ่งปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งช่วยให้เข้าถึงจุดชำรุดของพิมพ์โลหะจากมุมมองตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมามักอาศัยประสบการณ์และสัญชาตญาณของช่างผู้มากประสบการณ์ในการซ่อมแซม ทีมงานของคุณฮอตตะเองก็ประสบความสำเร็จในการคาดการณ์ถึงสภาพการชำรุดรูปแบบต่างๆ จากการจำลองสถานการณ์ด้วย JSCAT ความสามารถในจำลองสถานการณ์ล่วงหน้านี้ กลายเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานผลิตกล้านำเสนอไอเดียกันอย่างขมีขมัน เพื่อปรับปรุงแก้ไขโดยไม่จำเป็นต้องกลัวเรื่องความสูญเสียกรณีเกิดการผิดพลาดในขั้นตอนทดลองผลิต นอกจากนี้ JSCAT ยังเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มจำนวนแม่พิมพ์โลหะ ตรวจสอบการไหลของและการแข็งตัวของโลหะกรณีเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพทางเดินของเหลว การปรับแก้แม่พิมพ์โลหะด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มผลผลิตผ่านรอบแรก (First pass yield)

คุณ Ornut เล่าว่า “ไม่เคยรู้เลยว่ามีซอฟต์แวร์แบบนี้ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่โดยแท้เลยค่ะ ตอนแรกรู้สึกว่าใช้ยากอยู่เหมือนกัน ต้องใช้เวลาปรับตัวทีละน้อยเพื่อให้คุ้นชิน แต่ตอนนี้ใช้ได้คล่องแล้วค่ะ” ทั้งนี้ พนักงานคนไทยของบริษัท Qualica รับหน้าที่ให้บริการคำแนะนำด้านเทคโนโลยี เนื่องจากพนักงานหญิงคนดังกล่าวมีความชำนาญภาษาญี่ปุ่น จึงได้ศึกษาเรียนรู้รายละเอียดทั้งหลายจากพนักงานของ Qualica ผู้มีความรู้เกี่ยวกับการหล่อโลหะเป็นอย่างดีที่เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น แม้แต่คุณฮอตตะเองก็ยังพูดว่า “การที่คนไทยสามารถพูดคุยเรื่องทางเทคนิคกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านทางผม ช่วยแบ่งเบาภาระของผมลงได้มากทีเดียว” อีกจุดเด่นของ JSCAST คือสามารถสร้างแบบจำลองวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายและใช้เวลาไม่นาน โดยใช้การจัดการด้วยอินเทอร์เฟสแบบเฉพาะของข้อมูล CAD ระบบสามมิติ เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณฮอตตะได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “เข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก ฟังก์ชันครบครันครับ”

การต่อยอดหลังจากนี้

การขึ้นรูปทั้งหมดในประเทศไทย ทำผ่านระบบจำลองสถานการณ์ นำทักษะความรู้กลับสู่โรงงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณานำระบบเข้ามาใช้

ปัจจุบัน มีการใช้ JSCAST เพื่อลดความชำรุดเสียหายของพิมพ์หล่อโลหะที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ทางโรงงานและบริษัทในประเทศไทยได้นำซอฟต์แวร์นี้มาใช้กับงานอะไหล่ยางที่ใช้ในวาล์ว กับการขึ้นรูปด้วยการหล่อฉีดอะลูมิเนียมด้วย จึงเกิดเป็นแนวคิดขึ้นมาว่า ในอนาคตอาจนำซอฟต์แวร์นี้เข้ามาใช้จำลองสถานการณ์การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศไทยภายในฝ่ายงานด้านวิศวกรรม และวิเคราะห์หาตำหนิหรือจุดชำรุด ยิ่งไปกว่านั้น หากการทำงานของ JSCAST ในประเทศไทยรุดหน้าด้วยดี ก็จะสามารถนำทักษะความรู้ที่สั่งสมในไทยส่งต่อไปยังโรงงานในประเทศญี่ปุ่นที่กำลังพิจารณาการนำระบบเข้ามาใช้อยู่เช่นเดียวกัน

ในแผนงานบริหารกลางไตรมาสที่ 4 ซึ่งประกาศออกมาในปี 2019 คิทส์มุ่งมั่นที่จะเป็น “Global Strong No.2” (บริษัทที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก) ของวงการธุรกิจวาล์วภายในปี 2030 และปักเป้าตลาดโลกที่ควรจับตาเอาไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น ตามต่อด้วย 3 ภูมิภาค (ยุโรป อเมริกา อาเซียน) และ 2 ตลาดหลัก (จีน อินเดีย) พร้อมทั้งดำเนินกิจการโดยอิงกับระบบนิเวศของตลาดแต่ละแห่ง ในปี 2018 เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสร้างเสริมความแข็งแกร่ง โดยจัดตั้งบริษัทในประเทศเวียดนาม สำนักงานในประเทศอินโดนีเซีย และตั้งเป้าครองพื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Strong No.2」

คุณฮอตตะกล่าวถึงแผนการในอนาคตว่า “ผมอยากให้คนไทยเป็นแกนหลัก ช่วยกันประคับประคองโรงงานในวันใดวันหนึ่ง” โดยเชื่อว่า วันที่พนักงานคนไทยจากฝ่ายงานวิศวกรรมจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง มีส่วนช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาดคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

คลิกที่นี่เพื่อดูผลิตภัณฑ์

จำลองกระบวนการหล่อ สร้างแบบจำลองการวิเคราะห์อย่างง่ายในเวลาอันสั้น

ซอฟต์แวร์การจำลองการหล่อ

JSCAST

คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด

ติดต่อสอบถาม